ทุกวันนี้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านของพลังงานมากมาย ตั้งแต่การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ศักยภาพที่มากขึ้นของเครื่องใช้ไฟฟ้า และแน่นอน ความต้องการที่มีต่อพลังงานไฟฟ้าที่มากยิ่งขึ้น
พลังงานไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นพลังงานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuels) เช่นก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป
แต่ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามในการตอบสนองต่อความต้องการด้านพลังงาน และเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านพลังงาน ทำให้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่นพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวล เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
และพลังงานทดแทนหมุนเวียนกำลังจะมีบทบาทเป็นอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงภาพรวมของพลังงานโลก
ความมั่นคงทางพลังงาน
ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติพลังงาน ที่อาจทำให้เกิดความขาดแคลนด้านพลังงานของโลกต่อไปในอนาคต ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากปริมาณของเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งใช้แล้วหมดไปที่มีน้อยลงเรื่อย ๆ และการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากเกินไป
พลังงานหมุนเวียนจึงกลายมาเป็นคำตอบสำคัญของปัญหานี้ พลังงานหมุนเวียนส่วนมากมีแหล่งทรัพยากรที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก เช่น แสงอาทิตย์และลม ซึ่งมีอยู่ในทุกภูมิภาค อย่างน้อยในระดับหนึ่ง ทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มักมีความผันผวนด้านราคาและความไม่แน่นอนทางการเมือง
ในระยะสั้นการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลนด้านพลังงาน ด้วยการเพิ่มแหล่งผลิตพลังงานให้มากยิ่งขึ้น
แต่ในระยะยาวการสร้างระบบพลังงานที่กระจายตัวและมีแหล่งผลิตพลังงานที่หลากหลาย โดยสามารถนำทรัพยากรและพลังงานธรรมชาติที่มีอยู่อย่างไม่มีวันหมด เช่นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ ควบคู่ไปกับการลดความจำเป็นในการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นในระบบพลังงาน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และโลกของเรา
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะ
อีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญไม่แพ้กันคือสถานการณ์ความเปลี่ยนด้านภูมิอากาศ (Climate Change) และสภาวะโลกร้อน (Global Warming)
จึงทำให้หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากเมื่อเทียบกับพลังงานจากฟอสซิล นอกจากนี้ยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ที่มักเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่เพียงการตอบโจทย์ปัญหาด้านพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังตอบสนองต่อความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
การพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน
อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน เช่น การผลิตและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การตั้งกังหันลม และการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงาน เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ช่วยเพิ่ม และเสริมขีดจำกัดด้านเทคโนโลยี ที่ไม่เพียงแค่ตอบสนองต่อความต้องการด้านพลังงาน แต่ยังส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่น ๆ อีกด้วย
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในครัวเรือน ไปจนถึงการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอัตราการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำ หรือเป็นศูนย์
นอกจากนี้การเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนยังได้สร้างงานใหม่จำนวนมากในหลายประเทศ การเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวได้ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งทำให้เกิดบริษัทสตาร์ทอัพ ผู้ผลิตชิ้นส่วน และผู้ให้บริการเกี่ยวข้องจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลกเติบโตอย่างยั่งยืน
การเปลี่ยนโครงสร้างระบบพลังงานในระยะยาว
ในอดีต ระบบพลังงานโลกพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักซึ่งก่อให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่สอดรับกับระบบพลังงานแบบรวมศูนย์ (centralized energy system) ทำให้ความมั่นคงด้านพลังงานทั้งหมดต้องยึดโยงอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งใช้แล้วหมดไป
แต่การมีบทบาทมากขึ้นของพลังงานทดแทน ได้ช่วยให้เกิดการกระจายตัวของแหล่งผลิตไฟฟ้า (distributed generation) และกระบวนการซื้อขายพลังงานแบบP2P (peer-to-peer) ที่ให้ภาคเอกชน ไปจนถึงครัวเรือน สามารถช่วยในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อเข้ามาทดแทนพลังงานส่วนที่ขาดไปได้
ทำให้ผู้ผลิตพลังงานในภาคเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตพลังงานให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น และในระยะยาวความเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอันเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป และกระจายกำลังการผลิตไฟฟ้าออกสู่แหล่งผลิตไฟฟ้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น และทำให้ภาคเอกชน หรือบริษัทด้านพลังงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน
เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น และพลังงานหมุนเวียน
เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น คือกลุ่มบริษัทฯ ด้านพลังงาน ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานชั้นนำแห่งเอเชีย เพื่อเป็นผู้ผลิตและจัดหาพลังงานที่ยั่งยืนควบคู่กับการส่งเสริมสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่สะอาด เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม
ในวันนี้ที่พลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน ภารกิจของ เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) จึงไม่ใช่เพียงการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
แต่คือการเป็นบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความก้าวหน้า สามารถผลักดันธุรกิจพลังงานหมุนเวียนให้เติบโต รวมถึงมีส่วนในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไปในอนาคต
เป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ของ เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น
เพื่อการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การตอบสนองวิสัยทัศน์และพันธกิจของกลุ่มบริษัทฯ กลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- มุ่งมั่นที่จะลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานก๊าซชีวภาพ และพลังงานชีวมวล ทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชีย โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจำนวนรวมทั้งสิ้น 400 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนใกล้เคียงมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทฯ โดยเริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงสนับสนุนให้มีการจ้างงานจากชุมชนใกล้เคียงโครงการ ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างโครงการไปจนถึงการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนใกล้เคียงผ่านการเกื้อกูล ให้ความช่วยเหลือ และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน
- ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านพลังงานไฟฟ้า
เพราะเราเชื่อว่าโลกที่กำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนโลกไปในทางที่ดีขึ้นได้ หากเรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
Source: Electricity Generating Authority of Thailand (EGAT) International Energy Agency (IEA)