Carbon Footprint ตัวชี้วัดสำคัญ เพื่อยับยั้งวิกฤติโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้กลายมาเป็นวาระสำคัญระดับโลกที่ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ไปจนถึงบุคคลทั่วไปต่างต้องให้ความสำคัญ เมื่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้โลกของเราเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น

ในความพยายามที่จะป้องกัน และยับยั้งผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการจัดการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือ “ตัวชี้วัด” ที่สามารถประเมิณออกมาเป็นตัวเลขได้ เพื่อช่วยให้สามารถติดตาม และยับยั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ

Carbon Footprint คืออะไร

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คือตัวชี้วัดผลที่บ่งบอกถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำในชีวิตประจำวันอย่างการประกอบอาหาร เดินทาง ใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงธุรกิจและบริการต่าง ๆ เช่นการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม วัตถุดิบที่เลือกใช้ กระบวนการผลิต รูปแบบการให้บริการ การจัดการขยะที่เกิดขึ้น และอื่น ๆ

โดยก๊าซเรือนกระจกที่ว่านี้ หมายถึงก๊าซที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์

ซึ่งก๊าซต่าง ๆ เหล่านี้มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ที่ต่างกันไป

หลักการคำนวณ Carbon Footprint

หลักการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดขึ้นนั้น ใช้การเปรียบเทียบศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนของก๊าซต่าง ๆ กับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดเป็นหน่วยวัดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent : CO2e)

คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) คือการเทียบเคียงศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อน โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นมาตรฐานในการวัด

เช่นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 kg จะเทียบเท่ากับการก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 1 kgCO2e

แต่ก๊าซเรือนกระจกก็มีอยู่หลายชนิดดังที่กล่าวไปเบื้องต้น ทำให้เมื่อเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ ก็จะมีอัตราการเปรียบเทียบศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนของก๊าซนั้น ๆ เทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เช่นก๊าซมีเทน ซึ่งถูกกำหนดไว้ให้มีศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า การปล่อยก๊าซมีเทน 1 kg จะเทียบเท่ากับการก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 28 kgCO2e

ซึ่งในชีวิตประจำวันนั้น เราทุกคนต่างก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประมาณที่แตกต่างกันไปจากกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหาร การเดินทาง การใช้ไฟฟ้า และอื่น ๆ

โดยในประเทศไทย คนไทยมีอัตราเฉลี่ยของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ประมาณคนละ 5.3-5.5 ตัน CO2e ต่อคน/ปี

นอกจากสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันแล้ว การใช้สินค้าและบริการจากธุรกิจต่าง ๆ ก็มีส่วนทำใหคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของแต่ละคนแตกต่างกันไปด้วย

เพราะสินค้าและบริการต่าง ๆ ล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกันไป การเลือกใช้สินค้าและบริการจากธุรกิจและองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถช่วยลด Carbon Footprint ของตัวเองและโลกได้[S1]

ประเภทของ Carbon Footprint

นอกจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากกิจกรรมส่วนตัวแล้ว ยังมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์เกิดขึ้นมาจากภาคธุรกิจและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

Carbon Footprint ขององค์กร

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ Corporate Carbon Footprint : CCF) หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การจัดการพลังงาน การจัดการซัพพลายเชน การจัดการของเสีย กระบวนการขนส่ง และอื่น ๆ

การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเป็นหนึ่งในกระบวนการในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากองค์กร เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหาร จัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้พิจารณาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจาก 3 SCOPE หลัก ได้แก่

SCOPE I: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Direct Emissions)

การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ที่เกิดจากกระบวนการผลิต กระบวนการและรูปแบบในการขนส่งสินค้า การใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย และคาร์บอนฟุตพริ้นต์อื่น ๆ ที่กิจกรรมขององค์กรก่อให้เกิดขึ้น

SCOPE II: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions)

การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้พลังงานเพื่อใช้ในองค์กร เช่นการใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ และการใช้พลังงานหมุนเวียนทางเลือกที่ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรื้นต์น้อยกว่า เช่นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

SCOPE III: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้านอื่น ๆ

การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กิจกรรมหลักขององค์กร เช่นการเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และอื่น ๆ

Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product : CFP) หมายถึง ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ (Product Life cycle) ซึ่งนับตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน

โดยเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ติดบนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ ตลอดตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจชื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในวันนี้การใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังมีบทบาทในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย เพราะปัจจุบันหลายประเทศมีการนำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กันอย่างจริงจังแล้ว เช่นในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น และยังมีการเรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย

ทำไมทุกคนต้องใส่ใจ Carbon Footprint

ทุกวันนี้โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายคนเริ่มเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าสภาวะโลกเดือด (Global Boiling) การจัดการเพื่อป้องกันไม่ใช้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ถูกใช้ในปัจจุบัน ด้วยการกำหนดภาษีคาร์บอนและมาตรการต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้อข้อจำกัดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจและองค์กร ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากยิ่งขึ้น

ในฝั่งของชีวิตประจำวัน เราทุกคนอาจไม่รู้สึกถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป แต่เราก็สามารถเห็นได้จากสื่อ ว่าธุรกิจ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นำเสนอให้เรานั้นต่างหันมาสนใจกับผลกระทบที่ก่อกับโลกมากยิ่งขึ้น ทำให้ทุกวันนี้เรามีตัวเลือกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ และบริการที่เป็นมิตรกับโลกมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

Source:

https://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=YjNKbllXNXBlbUYwYVc5dVgybHo

https://www.nature.org/en-us/get-involved/how-to-help/carbon-footprint-calculator/

https://www.carbonfootprint.com/warming.html

https://qa.kpru.ac.th/web/downloads/doc/ec8956637a99787bd197eacd77acce5e.pdf