Carbon Credit สินทรัพย์ใหม่ในวันที่ทุกคนต้องร่วมกันปกป้องโลก

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกได้ก้าวเข้าสู่สภาวะที่จำเป็นจะต้องมีวิธี และกระบวนการในการรับมืออย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้สภาพแวดล้อมของโลกล่วงเข้าไปสู่จุดที่ไม่อาจหวนคืนได้

ในความพยายามที่จะป้องกัน และยับยั้งผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ธุรกิจ และองค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาของโลกได้เพียงลำพัง “คาร์บอนเครดิต” จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นสินทรัพย์ใหม่ในโลกที่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยให้ธุรกิจและองค์กรสามารถแลกเปลี่ยน และสนับสนุนเพื่อปกป้องโลกไปด้วยกัน

Carbon Credit คืออะไร

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือสิ่งที่ธุรกิจและองค์กรได้รับมาจากส่วนต่างของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลด หรือกักเก็บได้ เทียบกับเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้

ซึ่งทุกปี ธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ จะมีเกณฑ์กำหนดสำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ว่าสามารถปล่อยก๊าซเหล่านี้ได้ในปริมาณเท่าไหร่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะสามารถปรับเปลี่ยน และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดได้ทันที

คาร์บอนเครดิต จึงเกิดขึ้นเพื่อให้องค์กรที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจก สามารถช่วยเหลือองค์กรที่ยังไม่สามารถปรับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้ ด้วยการใช้คาร์บอนเครดิต จากองค์กรที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ ไปทดแทนกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกินมาขององค์กรอื่น

Carbon Credit มาจากไหน

การได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตนั้น มาจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร โดยเทียบเคียงศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อน โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นมาตรฐานในการวัด หรือ คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) และผ่านการรับรองตามระเบียบหรือวิธีการทางราชการที่เป็นที่ยอมรับหรือเทียบได้กับระดับสากล

ในประเทศไทยก็มี องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นองค์การมหาชน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยวิเคราะห์ กลั่นกรอง และรับรองโครงการ

โดยองค์กรต่าง ๆ จะได้รับคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการที่ช่วยลด หรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของตนเอง เช่น

  • ใช้พลังงานสะอาดอย่าง พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) หรือพลังงานลม (Wind Power) มากขึ้น
  • เปลี่ยน เชื้อเพลิงหม้อไอน้ำ (Boiler) จากน้ำมันเตาเป็นชีวมวล และชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellets)
  • เปลี่ยนรถส่งสินค้าจากรถน้ำมัน เป็นรถไฟฟ้า
  • การปลูกป่าเพิ่มเติมเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก
  • และโครงการอื่น ๆ ที่ช่วยให้องค์กรมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง

โดยคาร์บอนเครดิตที่องค์กรต่าง ๆ ได้มานี้ ไม่ใช่เพียงเป็นเครื่องยืนยันว่าองค์กรสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ยังมีการซื้อขายบนตลาดคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

ตลาด Carbon Credit

ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) คือตัวกลางในการช่วยให้คาร์บอนเครดิตสามารถซื้อขาย และใช้เครื่องมือทางการตลาด (Market Mechanism) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมสามารถบรรลุผลได้จริง

ทำให้คาร์บอนเครดิต ที่เกิดจากการที่องค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีมูลค่าจริง

และช่วยให้ในอนาคตเมื่อประเทศไทยมีกฎหมายรองรับ องค์กรที่ยังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย จะสามารถชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หรือเพิ่มให้เกินกว่าเป้าหมายตามความสมัครใจขององค์กร ด้วยคาร์บอนเครดิตจากองค์กรอื่นได้

ตลอดจนถึงการขายคาร์บอนเครดิตให้กับองค์กรในประเทศที่มีกฎหมายรับรองการใช้งานคาร์บอนเครดิตแล้วได้อีกด้วย

โดยตลาดคาร์บอนถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market)

ตลาดคาร์บอนที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย โดยมีกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายกำกับอย่างชัดเจน

โดยองค์กรที่เข้าร่วมในตลาดภาคบังคับจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย (Legally Binding Target) องค์กรที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษ ในขณะที่ผู้ที่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)

ตลาดคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากความสมัครใจขององค์กรที่เข้าร่วม โดยไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับ

โดยองค์กรอาจมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองตามความสมัครใจ (Voluntary) ที่ไม่ได้กฎหมายบังคับ (Non-legally Binding Target) เพื่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร

ประโยชน์ของ Carbon Credit กับเป้าหมาย Net Zero

คาร์บอนเครดิต และตลาดคาร์บอนเครดิต ร่วมกันนั้นได้กลายมาเป็นกลไกใหม่ของโลกในการยับยั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังเพิ่มขึ้นในการปัจจุบัน ด้วยการให้องค์กรต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมระหว่างกันในการบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยรวมในสังคม ผ่านการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตระหว่างองค์กร

และยังช่วยให้คาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีมูลค่าจริงในตลาด ส่งเสริมให้องค์กรที่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ก่อนสามารถได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของโลกคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเหลือศูนย์ (Net Zero)

ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการสร้าง ‘สมดุล’ ระหว่างก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ธุรกิจหรือองค์กร กับการชดเชยการปล่อยคาร์บอนในด้านต่าง ๆ

ซึ่งคาร์บอนเครดิต และตลาดซื้อขายช่วยให้สิ่งนี้เป็นจริงได้ง่ายขึ้น ผ่านการส่งเสริมการลดและชดเชยคาร์บอนในฟากธุรกิจและองค์กร พร้อมมีแนวทางในการสนับสนุนองค์กรที่ยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง

ในท้ายที่สุดแล้วเป้าหมาย Net Zero ไม่อาจเป็นสิ่งที่ภาครัฐ ธุรกิจหรือองค์กรใด ๆ สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นจะต้องมีกลไกที่ช่วยผลักดัน และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนสามารถไล่ตามเป้าหมายนี้ไปร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

Source:

https://www.tei.or.th/th/article_detail.php?bid=129

https://www.greennetworkthailand.com/carbon-credit-and-carbon-footprint/

https://www.greenpeace.org/thailand/story/24335/climate-emergency-what-is-net-zero/