เปลี่ยนเศษวัสดุ สู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน
พลังงานชีวมวลคืออีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากความต้องการของโลกปัจจุบันที่กำลังสร้างแนวทางในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน
ในขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานจากชีวมวลได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และยังเป็นวิธีที่ช่วยลดของเสียทางการเกษตรที่สามารถเป็นวัตถุดิบชีวมวล เช่น เศษไม้ กากอ้อย ซังข้าวโพดและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่น ๆ
โรงไฟฟ้าชีวมวลคืออะไร?
โรงไฟฟ้าชีวมวลหมายถึงโรงไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานจากวัตถุดิบชีวมวล เช่น เศษไม้ กากอ้อย ขยะเกษตร และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่น ๆ
โดยวัตถุดิบเหล่านี้จะถูกแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าผ่านกระบวนที่เหมาะสมกับรูปแบบของวัตถุดิบ เช่นการเผาไหม้ (Combustion) และการผลิตก๊าซ (Gasification)
ด้วยการนำวัตถุดิบชีวมวลซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ กลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ในฐานะวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน
โรงไฟฟ้าชีวมวลยังช่วยให้เกิดการนำวัตถุดิบธรรมชาติที่เหลือใช้ หรืออาจกลายเป็นของเสียให้เกิดมูลค่าใหม่ในตัวเอง
ซึ่งสามารถต่อยอดสู่การจัดการของเหลือทางการเกษตรในชุมชน และช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้เกษตรกร เป็นอีกบทบาทของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมความแข็งแรงให้กับชุมชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล
การผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นเกิดจากการนำวัตถุดิบทางชีวมวลต่าง ๆ มาแปรรูปและใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยวัตถุดิบชีวมวลเหล่านี้สามารถมาจากแหล่งธรรมชาติ ไปจนถึงของเสีย ของเหลือใช้จากการเกษตร เช่น เศษไม้และกิ่งไม้, กากอ้อยและกากน้ำตาล, เศษพืช เป็นต้น
กระบวนการผลิตพลังงานชีวมวลทำงานโดยการรวบรวมและเตรียมวัตถุดิบชีวมวลเหล่านี้ เข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสมในการสร้างให้เกิดกระแสไฟฟ้า ได้แก่
การเผาไหม้โดยตรง (Direct Combustion)
กระบวนการนี้ใช้การเผาไหม้วัตถุดิบชีวมวล เช่น เศษไม้ กากอ้อย หรือเศษพืช เพื่อให้เกิดเป็นพลังงานความร้อน จากนั้นจึงใช้พลังงานความร้อนนี้ผลิตไอน้ำซึ่งใช้ในการขับกังหันไอน้ำเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า
โดยกระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่เหมาะสำหรับวัตถุดิบชีวมวลที่มีความชื้นต่ำ
การทำให้เกิดก๊าซ (Gasification)
กระบวนการนี้เป็นการเปลี่ยนวัตถุดิบชีวมวลให้กลายเป็นก๊าซเชื้อเพลิง หรือก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่มีองค์ประกอบของคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ไฮโดรเจน (H₂) และมีเทน (CH₄)
ก๊าซชีวภาพสามารถนำไปใช้เผาไหม้เพื่อผลิตความร้อน นำไปใช้กับกังหันก๊าซ (gas turbine) หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าได้
โรงไฟฟ้าชีวมวล และการต่อยอดสู่ชุมชน
บทบาทของโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นนอกจากจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด ยังมีส่วนช่วยในการจัดการของเหลือจากเกษตรกร ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้า ผ่านการส่งเสริมการจัดการของเหลือทางการเกษตรภายในชุมชน การจ้างบุคลากรท้องถิ่นเพื่อช่วยในการจัดหาวัตถุดิบชีวมวล ไปจนถึงการรับซื้อเศษวัสดุ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากชุมชนได้อีกด้วย
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลอาจยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่นต้นทุนการลงทุนที่สูงในระยะเริ่มต้น การจัดหาวัตถุดิบชีวมวลที่มีความแปรปรวนตามฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงความรับผิดชอบในการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อช่วยลดมลพิษ และผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้การหมัก และกระบวนการต่าง ๆ ในการผลิตพลังงานของโรงไฟฟ้าชีวมวล
แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลก็ยังเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาด และสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานสำหรับปัจจุบันและอนาคต ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนด้วยพลังงาน ไปจนถึงการต่อยอดส่งเสริมความแข็งแรงให้กับชุมชนโดยรอบได้อย่างยั่งยืน
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของเสริมสร้าง พาวเวอร์
ปัจจุบันบริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาและผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ทั้งหมด 1 โครงการ ในประเทศไทย มีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 MW โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลนี้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล โดยใช้ ไม้สับ เปลือกไม้ยูคาลิปตัส และ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า