ผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์เคลือบสารนาโนป้องกันสิ่งสกปรก ยืดระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน เป็นการพัฒนาและประยุกต์การใช้เทคโนโลยีสารเคลือบอนุภาคนาโน โดยกลุ่มบริษัทฯ ได้พยายามเฟ้นหาความร่วมมือกับหลายบริษัท หนึ่งในนั้นคือ บริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด เพื่อพัฒนากระบวนการใช้สารเคลือบอนุภาคนาโนกับแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัทให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์เคลือบสารนาโนที่มีสมบัติการกันน้ำและฝุ่น ไม่มีผลกระทบต่อพื้นผิวแผงโซลาร์เซลล์ รักษาดัชนีการหักเหแสงผ่านสารนาโนเทียบเท่ากระจกของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้ไม่ลดประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์เคลือบสารนาโน สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 2.3 (ซึ่งคาดว่า เมื่อดำเนินการครบ 1 ปี ประสิทธิภาพเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3-5) เมื่อเทียบกับแผงแบบเดิม และลดการทำความสะอาดแผง จาก 6 ครั้งต่อ 2 ปี ลดเหลือเพียง 1 ครั้งต่อ 2 ปี เท่านั้น รวมถึงลดการใช้น้ำในการทำความสะอาด และลดความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการล้างแผงโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาสูง นอกจากนี้สารเคลือบนาโนยังไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
นวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์เคลือบสารนาโนป้องกันสิ่งสกปรก ยืดระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน เป็นนวัตกรรมที่ริเริ่มและพัฒนาภายในกลุ่มบริษัทฯ ด้วยกลยุทธ์นวัตกรรมแบบเปิด ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะและความสามารถนวัตกรรมให้กับพนักงาน และเริ่มใช้นวัตกรรมนี้เมื่อมิถุนายน 2567
ผลกระทบจากการพัฒนานวัตกรรม แผงโซลาร์เซลล์เคลือบสารนาโนป้องกันสิ่งสกปรก ยืดระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน
ต่อกลุ่มบริษัทฯ
- ลดต้นทุน: คาดว่าจะลดต้นทุนการทำความสะอาดแผงได้ร้อยละ 27 สำหรับโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคารพาณิชย์และอุตสาหกรรม และร้อยละ 56 สำหรับโครงการที่พักอาศัยทั่วไป
- เพิ่มประสิทธิภาพ: เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้ ร้อยละ 2.3 ต่อปี หรือ 32.71/kWh/kWp/ปี (ซึ่งคาดว่า เมื่อดำเนินการครบ 1 ปี ประสิทธิภาพเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3-5) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิต 703.1kWp
- ลดการปล่อยก๊าซ CO2e: 12,072 kg CO2e/ปี โดยคำนวณจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิต 703.1 kWp
- ผลตอบแทน: คาดว่าจะได้รับผลตอบแทน 82,800 บาทต่อปี ต่อโครงการที่มีขนาด 703.1 kWp โดยคำนวณจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิต 703.1 kWp
- ลดการใช้น้ำ: ลดการใช้น้ำสำหรับล้างแผงโซลาร์เซลล์ร้อยละ 80 ของกระบวนการทำความสะอาดแบบเดิม
- ความปลอดภัย: ลดความเสี่ยงของการทำงานบนที่สูงของพนักงาน จาก 6 ครั้งต่อ 2 ปี ลดเหลือเพียง 1 ครั้งต่อ 2 ปีเท่านั้น
ต่อสิ่งแวดล้อม
- การอนุรักษ์น้ำ: ลดความถี่ในการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้อย่างมาก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ และยังช่วยส่งเสริมการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
- การเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานหมุนเวียน: การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าช่วยให้สามารถผลิตพลังงานสะอาดได้มากขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานเดิม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง
- การลดการใช้สารเคมี: การเคลือบช่วยลดความจำเป็นในการใช้สารเคมีรุนแรงสำหรับทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ ลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนของดินและแหล่งน้ำ
- ยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์: ลดการสึกหรอที่เกิดจากการทำความสะอาดบ่อยครั้ง ช่วยยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์ ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและกำจัดแผงโซล่าร์เซลล์
ต่อสังคม
- เพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน: การลดความถี่ในการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยเฉพาะในโครงการติดตั้งบนหลังคาที่มีความเสี่ยงในการพลัดตกสูง และสนับสนุนมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับพนักงานบำรุงรักษา
- เพิ่มความมั่นคงในการจัดหาพลังงานสำหรับชุมชน: การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานและลดเวลาในการหยุดทำงานเพื่อบำรุงรักษาช่วยให้สามารถจัดหาพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงยิ่งขึ้นสำหรับผู้ใช้งานในระดับครัวเรือนและเชิงพาณิชย์
- การส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานอย่างยั่งยืน: แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ในสังคมเกี่ยวกับแนวทางการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และกระตุ้นให้เกิดการนำแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น
- การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ: สนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาภายในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของสตาร์อัพไทย ส่งผลในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ